“โหย หมี่ผัดแบบนี้อะนะ จานละ 80 แพงนะ” ผมคิดราคาอาหารเป็นเงินบาท แล้วบ่นกับอร
“เออจริง” เธอเห็นด้วย
อาหารหมดจาน ฝนซาลงแล้ว เราจ่ายเงิน กำลังจะก้าวออกจากร้าน
“ขอบคุณครับ” เสียงดังจากข้างหลัง ภาษาไทยชัดเจน
เราหันกลับไป เจอพนักงานหนุ่มหน้าไม่รับแขกสามคน ผมก้มหัวให้ หน้าชา หัวใจเต้นตุบตับ แล้วรีบเดินหนีอย่างเร็วที่สุด
เค้ารู้ใช่มั๊ยว่าเรานินทา ต้องรู้แน่ๆ
กัวลาลัมเปอร์อาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายของใครหลายคน แต่ก็เป็นเมืองที่เที่ยวง่าย ราคาประหยัด และอาจทำให้คุณเซอร์ไพร์
อย่าเผลอนินทาใคร เพราะเค้ารู้ภาษาไทยมากกว่าที่คุณคิด!
เตรียมตัว
คนไทยเข้ามาเลเซียได้สบาย แค่มีหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ (หรือยังไม่ใกล้จะหมดอายุภายใน 6 เดือน)
ที่ตม. ผมแค่ยื่นหนังสือเดินทาง สแกนนิ้วมือ เป็นอันเรียบร้อย
แต่เจ้าหน้าที่บางคนอาจขอดูตั๋วเครื่องบิน และทำท่ามีปัญหากับตั๋วในโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท พิมพ์ตั๋วเครื่องบินติดตัวไปด้วยก็ไม่เลวครับ
เวลา
เวลาที่มาเลเซียเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง
แผนการเดินทาง
แผนการเดินทางคร่าวๆ ของเราครับ
วันที่ 1
07.05 – ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง
10.05 – ถึงกัวลาลัมเปอร์
13.00 – ร้าน Soong Kee
15.00 – KL Forest Eco Park
17.00 – KLCC Park
18.00 – Petronas Twin Towers
20.00 – หาของกิน Petaling Street @ Chinatown
วันที่ 2
07.30 – Kampung Bharu
08.30 – ร้าน – Nasi Lemak Wanjo
9.00 – เดินเล่นรอบๆ Kampung Bharu
10.00 – เดินเล่น หาของกินย่าน Chow Kit
13.30 – National Mosque of Malaysia
14.00 – Islamic Arts Museum
17.00 – หาของกิน Petaling Street @ Chinatown
วันที่ 3
07.30 – เดินเล่นรอบ Merdeka Square
09.00 – Masjid Jamek
11.00 – Sin Sze Si Ya Temple @ Chinatown
11.30 – Guan Di Temple @ Chinatiwn
12.00 – Sri Mahamariamman Temple @ Chinatiwn
13.30 – Batu Caves
17.00 – Jalan Alor
วันที่ 4
09.00 – หาของกิน ICC Pudu
11.00 – ร้าน Restoran Al-Rizwan
12.00 – Ilham Gallery
17.00 – สนามบิน Kuala Lumpur International Airport 2 เตรียมตัวกลับกรุงเทพ
จากสนามบินเข้าเมือง
กัวลาลัมเปอร์มีสนามบินสองแห่ง คือ Kuala Lumpur International Airport (KLIA) และ Kuala Lumpur International Airport 2 (KLIA2)
บางสายการบินให้บริการที่ KLIA บางสายการบินให้บริการที่ KLIA2 ทริปนี้เราเดินทางด้วย Air Asia ซึ่งลงจอดที่ KLIA2 ครับ
จาก KLIA2 เข้าเมือง
การเดินทางเข้าเมืองมีหลายตัวเลือก ตั้งแต่ Taxi, รถไฟ KLIA Ekspres และรสบัส เทียบกันแล้วอย่างหลังใช้เวลาเดินทางมากกว่าเพื่อนนิดหน่อย แต่ราคาถูกกว่ากันมาก ดังนั้นเราจะพาคุณขึ้นรถบัสกัน
รถบัส
เริ่มตั้งแต่ลงจากเครื่อง เดินไปตามทางซึ่งไกลทีเดียว ผ่านพี่ตม. รับกระเป๋า แล้วเดินผ่านร้านรวงจนสุดทาง จะมีบันไดเลื่อนลงชั้นล่าง มี่คนต่อคิวยาว บูทขายตั๋วรสบัสอยู่ตรงนั้นนั่นเอง
“สวัสดีครับ ผมจะเข้าเมืองครับ” ผมบอกเจ้าหน้าที่
“จะไปที่ไหนคะ” เธอตอบ
“KL Sentral ครับ”
ผมจ่ายเงิน เธอยื่นตั๋วให้
ได้รอบ 11.40 แฮะ อีกตั้งครึ่งชั่วโมง
ข้างนอกมีรถบัสคันหนึ่งจอดอยู่ เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วส่งผู้โดยสารคนสุดท้ายขึ้นรถ แล้วมันก็แล่นออกไป
คันต่อมาเคลื่อนเข้ามาแทนที่ ผมลองเอาตั๋วให้เจ้าหน้าที่ดู พี่แกไม่ตอบอะไร ไม่ไล่เรากลับ แสดงว่าโอเค
เอากระเป๋าใบใหญ่ใส่ข้างตัวรถ แล้วขึ้นไปนั่ง ผู้โดยสารขึ้นมาจนเต็ม รถก็เคลื่อนออกจากท่าก่อนเวลาประมาณ 15 นาที
เวลา
• มีรถวิ่งเป็นรอบ ทุกวัน 4.30 – 2.30
ราคา
• 12 RM ต่อคน
จาก KLIA เข้าเมือง
หาข้อมูลได้แบบนี้ครับ เมื่อถึงสนามบิน KLIA ให้ลงไปชั้น G มองหา Block C แล้วซื้อตั๋วที่ Airport Coach Counter รถจะออกจาก KLIA Bus Station ชานชลาที่หนึ่ง
ปล. ดูข้อมูลของสายการบินที่ให้บริการที่นี่ http://www.klia2.info/airlines
จากเมืองกลับสนามบิน KLIA2
ตั้งต้นที่ KL Sentral ผมหมุนไปหมุนมา มองหาทางไปขึ้นรถบัส
สุดท้ายก็ยอมแพ้ ถามประชาสัมพันธ์ดีกว่า
“นั่นๆ ข้างบันใดเลื่อน” เธอบอก
โอ… ทางเข้ามันแอบอยู่ในซอกเล็กๆ ข้างบันใดเลื่อนจริงๆ
แต่ลงมาแล้วก็อุ่นใจ ซื้อตั๋ว แล้วนั่งยาวๆ ถึงสนามบินได้เลย
การเดินทางในเมือง
ผมใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก
โหลดเส้นทางเดินรถจากที่นี่ฮะ http://www.klia2.info/rail/rapidkl-lrt/ampang-line
ก่อนจะไปเรื่องอื่น ขอให้คุณเลี้ยวมาทางนี้ซักนิดครับ ผมมี “ชนิด” ของรถไฟฟ้าทั้ง 4 แบบในกัวลาลัมเปอร์ มาฝาก จะได้ไม่งงถ้าเจอตัวย่อพวกนี้ในย่อหน้าถัดไป
LRT (Light Rail Transit) เจอบ่อยที่สุด มีหลายสาย วิ่งบนดินบ้าง ใต้ดินบ้าง
MRT (Mass Rapid Transit) รถไฟใหม่เอี่ยม ตอนนี้ (พฤษจิกายน 2561) มีสายเดียว
MRL (Monorail Line) รถไฟรางเดี่ยวตุ้มจิ๋ว มีสายเดียวเช่นกัน
KTM Komuter รถไฟไฟฟ้า วิ่งออกนอกเมือง เราใช้เจ้านี่เดินทางไป Batu Cave
Google Map ก็ยังคงเป็นคู่หูที่ดีที่สุดสำหรับวางแผนการเดินทาง แม้ว่ามันจะทำแผนที่ MRT หล่นหายไปทั้งเส้นก็ตาม
ใช้คู่กับแผนที่การเดินรถ คุณจะได้ชื่อสถานีต้นทาง สถานีปลายทาง และที่สำคัญคือ ชนิดของรถและชื่อสายที่ถูกต้อง
การซื้อตั๋ว
มีเครื่องขายตั๋วอยู่ตามสถานี ใช้งานไม่ยาก
อันดับแรกเราต้องเลือกสายที่จะขึ้น โชคดีที่ผมพิมพ์ใส่กระดาษไว้ว่าต้องขึ้นสายไหน ไม่งั้นก็คงต้องวิ่งหาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ตรงนี้ ต่อไปคือเลือกสถานีปลายทาง เลือกจำนวนผู้โดยสาร แล้วจ่ายเงิน รับตั๋ว (เหรียญพลาสติก) และเงินทอน เป็นอันจบพิธี
แต่!!!
ตู้ขายตั๋วพวกนี้ ขายตั๋วของสถานีไหนก็ได้ ถึงแม้ว่าสถานีที่คุณอยู่จะไปที่นั่นไม่ได้ก็ตาม พูดง่ายๆ คือ จิ้มมั่วก็ซื้อตั๋วได้ แต่ไปถึงที่หมายรึเปล่าเป็นอีกเรื่อง อ่าว…
ถ้าซื้อผิดทำยังไง ซื้อใหม่เท่านั้น ไม่คืนเงินนะจ๊ะ เชื่อผมเถอะ ผมมีประสบการณ์ ^_^
หลงทาง
รถทุกสายเจอกันที่สถานี KL Sentral ถ้าหลงทาง ไปตั้งหลักที่นั่นก่อนได้ครับ
ที่พัก
ที่พักในมาเลเซียจะบวกภาษี 6% และ “ค่าค้างคืน” ที่รัฐบาลเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกคืนละ 10 MYR และบางโรงแรมมีค่ามัดจำด้วยครับ เลือกโรงแรมได้ตามชอบ ขอให้ไม่อยู่ไกลสถานีรถไฟฟ้าเป็นอันใช้ได้ ส่วนเราพักที่ โรงแรม Big M ครับ
โรงแรม Big M
ผมเลือกโรงแรม Big M เพราะอยู่ใกล้สถานี Masjid Jamek ตรงนี้เดินไปไชน่าทาวน์ และ Merdeka Square ได้ง่าย
พี่ยามที่นี่เป็นคนอินเดีย มีรอยยิ้มน่ารัก ท่าทางเจ้าเล่ห์นิดๆ แต่พาผมกับอรไปส่งที่ลิฟต์อย่างสุภาพสุดๆ และไม่เรียกร้องทิปให้เราอึดอัดใจ
ห้องเล็กๆ ของเรา อยู่ริมถนน ตอนเช้าตรู่มีเสียงรถไฟฟ้าผ่านไปมานิดหน่อย
ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร ทั้งที่เป่าผม กาต้มน้ำ และตู้เซฟ ซึ่งถ้าคุณชอบเก็บของมีค่าไว้ในห้อง อาจจำเป็นต้องใช้ เพราะทางโรงแรมจะเติมน้ำดื่ม กาแฟสำเร็จรูป และเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวให้ทุกวัน
ชั้นบนสุดของโรงแรมมีเครื่องกรองน้ำ เอาขวดน้ำไปกรอกเก็บไว้กินได้ฟรี
ระหว่างกรอกน้ำ ภาพที่เราป่วยเพราะกินน้ำฟรีที่อินเดียก็ผุดขึ้นมา ผมปลอบใจตัวเองว่านี่ไง ตะกี้ฝรั่งก็กรอกไปเต็มขวดเลย เครื่องก็ดูดี อยู่ในโรงแรม และนี่ก็ไม่ใช่อินเดีย!! โชคดีที่กินเข้าไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติ ประหยัดค่าน้ำไปได้เยอะ
ปลั๊กในห้องเป็นแบบนี้ครับ ปลั๊กสามตาหนึ่งจุด และปลั๊กสามตาแบบหัวเหลี่ยมอีกสองจุด ผมเอารางปลั๊กไปด้วย เลยไม่มีปัญหากับการชาร์จอุปกรณ์
วันกลับเรามีไฟลท์ดึก แต่ต้องเชคเอ้าท์ออกก่อนเที่ยง จะแบกกระเป๋าไปมาคงไม่ไหว ทางโรงแรมมีบริการฝากของฟรีสำหรับแขกที่มาพักด้วย เยี่ยมไปเลย
ข้อดี
+ ทำเลดีมาก
+ บริการดี
+ ห้องเงียบใช้ได้
ข้อเสีย
– ห้องเล็ก
– ปลั๊กไฟน้อย
พิกัด
– 3.1491215, 101.6969518
– http://bit.ly/2QIaI0p
ราคา
– ประมาณ 120 RM ต่อคืน (ยังไม่รวมภาษี 6%)
– ค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยว 10 RM ต่อคืน (รัฐบาลเรียกเก็บ)
– มีค่ามัดจำ 50 RM (ได้คืนตอนเช็คเอ้าท์)
สถานที่ท่องเที่ยว
ก่อนจะไปพบกับสถานที่ท่องเที่ยว ผมขอแนะนำให้คุณรู้จักสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก ขาดไม่ได้เลย นั่นก็คือออ
Kuala Lumpur
ใช่แล้ววว กัวลา ลัมเปอร์
เมื่องหลวงและเมื่องที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่แม่น้ำกอมบักและแม่น้ำคลางบรรจบกัน ทำให้มีโคลนจำนวนมาก ก็เลยได้ชื่อว่า Kuala Lumpur แปลว่า “สันดอนที่เป็นโคลน”
จุดเริ่มต้นของมันเกิดจากการทำเหมืองในปี 2400 แต่คนที่ทำให้มันเริ่มเป็น“เมือง”ขึ้นมา คือ กัปตันเรือชาวจีนชื่อ Yap Ah Loy (คนที่สร้างศาล Sin Sze Si Ya Temple ใน Chinatown) เขาได้รับการแต่งตั้งจากสุลต่าน ให้นำชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้
จากนั้นชาวเหมืองและพ่อค้าก็ค่อยๆ สร้างที่อยู่อาศัยขึ้น มีการวางฝังเมืองโดยชาวอังกฤษ เริ่มสร้างทางรถไฟ และเมืองก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นจนเป็นอย่างในปัจจุบัน
KL Forest Eco Park
ชื่อเดิมคือ “Bukit Nanas Forest Reserve” แปลเป็นภาษาไทยน่ารักๆ ว่า “เขตป่าสงวนเนินเขาสัปปะรด” มันได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนในปี พ.ศ. 2449 มีพื้นที่ 109.375 ไร่ แต่เพราะการพัฒนาเมืองและหอ KL Tower ทำให้ตอนนี้พื้นที่เหลือแค่ 56.25 ไร่
ถึงพื้นที่จะหดเล็กลง แต่ก็ยังมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ถ้าเจ้าโทโทโร่***จะแอบอยู่ที่ไหนซักแห่งในกัวลาลัมเปอร์ มันต้องอยู่ที่นี่แน่ๆ
กิจกรรมห้ามพลาดคือการเดินบนทางเดินยอดไม้ (Canopy Walk) ยาว 200 เมตร ซึ่งใช้เวลาไม่นาน จากบนนั้นมีวิวของเมืองวับๆ แวมๆ และภาพของ KL Tower สูงตระหง่านที่เผยตัวออกมาจากมุมของต้นไม้ คุ้มค่ากับหยาดเหงือที่เสียไป
พิกัด
– 3.1501662, 101.7039122
เวลา
– ทุกวัน 7.00 – 18.00
– 30 นาที สำหรับทางเดินยอดไม้
– 90 – 120 นาที ถ้าอยากเดินให้ทั่ว
ราคา
– ฟรี
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี Raja Chulan แล้วเดิน 850 เมตร
– หรือขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Jamek Masjid แล้วเดิน 1 กิโลเมตร
*** Totoro ตัวละครหลักจากเรื่อง My Neighbor Totoro
KL Tower
หอส่งสัญญาณโทรคมนาคมที่สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความสูง 421 เมตร ว่ากันว่าชั้นชมวิวที่นี่สวยที่สุดในกัวลาลัมเปอร์
รอบหอคอยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อีก เช่น สวนสัตว์ขนาดเล็ก, บ้านกลับหัว, อควาเรียม และ KL Forest Eco Park ผมไม่ได้ข้องแวะกับเจ้าหอสูงนี้เลย นอกจากแหงนมองมันจนเมื่อย แล้วเดินผ่านไป
พิกัด
– 3.1528293, 101.7037369
เวลา
– Observation Deck 9:00am until 10:00pm
ราคา
– 49 – 123 RM
– มีราคาพิเศษสำหรับครอบครัว และแพคเกจอื่นๆ ให้เลือกจนตาลาย ที่นี่ครับhttps://www.menarakl.com.my/index.php/online-ticketings
การเดินทาง
– เดินต่อจาก KL Forest Park
– หรือ ขึ้น MRL ไปสถานี Raja Chulan แล้วเดินต่อประมาณ 1.5 กิโลเมตร
KLCC Park
สวนขนาดประมาณ 120 ไร่ สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ Petronas Twin Towers ออกแบบโดย Roberto Burle Marx สถาปนิกชาวบลาซิล คนเดียวกับที่ออกแบบทางเดินรูปคลื่นริมชายหาดหาดโคปาคาบานาอันโด่งดัง
ในสวนมีทั้งสระว่ายน้ำสำหรับเด็ก ลู่วิ่ง ศาลาให้นั่งพัก และสระน้ำ Lake Symphony ที่มีการแสดงน้ำพุช่วงเที่ยงและช่วงเย็น มันยิงน้ำได้สูงถึง 42 เมตร ปล่อยละอองน้ำฟุ้งกระจายไปไกล ดังนั้น ดูทิศทางลมและป้องกันกล้องสุดรักของคุณให้ดี บริเวณนี้เป็นหนึ่งในตำแหน่งยอดนิยมสำหรับเก็บภาพหอคอยคู่ยามเย็น
พิกัด
– 3.1555995, 101.7146552
เวลา
– 7.00 – 22.00
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี KLCC แล้วเดิน 650 เมตร
– KLCC Park, Suria KLCC และ Petronas Twin Tower อยู่ในบริเวณเดียวกัน
Suria KLCC
ห้างสรรสินค้าด้านล่างของ Petronas Twin Towers เป็นแบบที่พบเห็นทั่วไปในเมืองใหญ่ เราแวะเข้ามาเติมพลังงานในนี้ก่อนกลับออกไปนั่งรอแสงเย็นในสวน
พิกัด
– 3.1579516, 101.7116236
เวลา
– ทุกวัน 10.00 – 22.00
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี KLCC แล้วเดิน 650 เมตร
Petronas Twin Towers
แลนด์มาร์คของมาเลเซีย เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกช่วงปีพ.ศ. 2541 – 2547 และยังคงเป็นตึกคู่ที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) ด้วยความสูง 451.9 เมตร สร้างเพื่อให้มาเลเซียมีชื่อเสียงมากขึ้นในเวทีโลก โดยฝีมือการออกแบบของ César Pelli สถาปนิคชาวอาเจนติน่า
ด้านล่างมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง KLCC Park และ Suria KLCC ส่วนด้านบนมีจุดชมวิวคือ Skybridge และ Observation Deck ซึ่งคุณจะได้ชมแสงสีวิบวับของเมืองใหญ่ ตัดกับสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้ายามเย็น
เกือบลืม ที่โม้ตะกี้ ผมดูจากภาพของคนอื่นฮะ
ถ้ามาถึงนี่แล้ว แสงเย็นและหอคอยคู่ คือภาพที่ยังไงๆ ก็ต้องมีติดกล้อง จุดถ่ายภาพที่นิยมมีสองจุด คือลานน้ำพุด้านหน้า และมุมด้านหลังจากสวน KLCC Park (จุดสีแดงสองจุดในแผนที่)
แต่สิ่งที่ผมพลาด คือไม่ยอมเช็คเวลาพระอาทิตย์ตกให้ดี วันนี้พระอาทิตย์ตกตอน 19.00 และผมถึงหอนี่ตั้งแต่ 16.00 สุดท้ายนั่งตากแดดตากลมไม่ไหว ลาหละจ่ะ เลยได้แค่ตึกเปิดไฟแหว่งๆ อย่างที่เห็น
พิกัด
– 3.1579516, 101.7116236
เวลา
– อังคาร – อาทิตย์, 9.00 – 21.00
– ศุกร์, เปิดตามปกติ แต่ปิดช่วง 13.00 – 14.30
– จันทร์, ปิด
ราคา
– ค่าขึ้นหอคอย 42 – 80 RM
– ราคาอย่างละเอียด ที่นี่ครับ https://www.petronastwintowers.com.my
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี KLCC แล้วเดิน 650 เมตร
Kampung Bharu
ย่านนี้เคยเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมที่อังกฤษตั้งขึ้น และอณุญาติให้ชาวมาเลเซียคงความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ท่ามกลางการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยแบบตะวันตก เป็นเหตุให้ Kampung Bharu แทบไม่ต้อนรับการพัฒนาใดใดมาอย่างยาวนาน
ที่นี่เคยจัดทริปเดินเที่ยวฟรี แต่ถูกยกเลิกไปแล้ว เหลือแค่แผนที่ให้ดูต่างหน้า
(โหลดที่นี่ http://www.visitkl.gov.my/visitklv2/index.php?r=column/cthree&id=112&place_id=975)
อาจารย์ทิ้งคัมภีร์ไว้แบบนี้ตามรอยซักหน่อยคงไม่เสียหายเนอะ
ผลคือแห้งเหี่ยวเพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เลยไม่น่าสนใจอย่างที่คิดครับ
และในที่สุดอากาศร้อนก็จุดชนวนให้อรงอแง
“เรามาทำอะไรที่นี่วววว” เจ๊โวยวาย
ท่าไม่ดี ผมรีบตัดจบ ไปหาของกินในตลาดดีกว่า
การเดินทางไป Kampung Bharu
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Bharu แล้วเดินเล่นยาวๆ
ถ้าคุณอยากลองสำรวจดูซักตั้ง เราก็มีข้อมูลมาฝากด้วย
บางจุดไม่มีพิกัดใน Google Map ต้องใช้แผนที่ของท่านอาจารย์คลำทางเอาครับ
1 Kelab Sultan Sulaiman
หรือ Sultan Sulaiman Club ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2444 ใช้เป็นที่พบปะของผู้คนในย่านนี้ แรกเริ่มเป็นบ้านไม้เล็กๆ ผ่านการปรับปรุง 3 ครั้งจนเป็นอย่างในปัจจุบัน ซึ่ง… สิ่งที่ผมเห็นตรงหน้าในวันนั้น คือความเงียบเหงา ต้นไม้แห้งเหี่ยว ป้ายผ้าสีซีด ดูเหมือนถูกทิ้งร้าง แต่จากรีวิวใน Google ผมพบว่ายังมีคนใช้งานที่นี่อยู่แฮะ
พิกัด
– 3.1617304, 101.7011509
2 Master Mat’s House
เป็นบ้านแบบ Malay-Palladian ขนานแท้ ใต้ถุนลอย หลังคากระเบื้อง สร้างขึ้นเมื่อปี 2464 โดย Haji Ahmad bin Mohamed ครูใหญ่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในสมัยนั้น เราถ่ายรูปเล็กน้อยแล้วรีบจากมา เพราะปัจจุบันยังคงมีลูกหลานของท่านอาศัยอยู่
3 Kelab Sultan Sulaiman Gallery
สร้างจำลอง Kelab Sultan Sulaiman หลังที่ 2 จัดแสดงเรื่องราวทางการเมืองในยุคที่อังกฤษเข้ายึดครอง ประตูหน้าถูกลอค เข้าไม่ได้ฮะ
4 Malay Food Street
ถนนที่ที่มีอาหารมาเลเซียตั้งอยู่หลายร้าน น่ากินไปหมด ใครอยากลองอาหารมาเลเซียแท้ๆ ห้าได้แถวนี้ครับ
5 Rumah Limas
บ้านแบบมาเลเซียหลังใหญ่ที่สุดในย่าน Kampung Bharu สร้างขึ้นในปี 2474 และได้รับการบูรณะในปี 2492 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดูจากแผนที่น่าจะตั้งอยู่ริมถนน แต่ผมหาไม่เจอ หรือสายตามั่วแต่จ้องจะหาของกินก็ไม่แน่ใจ
6 Former Saturday Night Market
เคยเป็นตลาดแห่งแรกในกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 2473 ปัจจุบันยังคงมีร้านค้าแบบดั้งเดิมตั้งอยู่ในบริเวณนี้
7. Masjid Jamek Kampung Bharu
มัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมแบบมาเลย์และโมกุล ประตูทางเข้าตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสคสีสดใส ที่นี่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน โดยเฉพาะช่วงรอมฎอน
พิกัด
– 3.16421, 101.7034301
8. Herbal and Sundry Shop
Kampung Bharu เป็นแหล่งขายของตากแห้ง เครื่องสำอางและยาบำรุงจากสมุนไพร รวมทั้งน้ำมนต์ Zamzam ของชาวมุสลิม ผมเดินผ่านแต่ไม่เห็นอะไรพิเศษ หรือเป็นเพราะร้านปิดวันอาทิตย์ก็ไม่แน่ใจ
9. Gurdwara Tatt Khalsa
วัดซิกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งได้รับมาจากอังกฤษ (สมัยที่อังกฤษปกครอง) สร้างในปี 2465 ที่นี่เลี้ยงอาหารมังสวิรัติทุกเที่ยงวันอาทิตย์ และสอนภาษาปันจาบด้วย
พิกัด
– 3.16435, 101.7002597
Chow Kit
Chow Kit เป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ติดกับ Kampung Baru เป็นที่ตั้งของ Chow Kit Market ตลาดสดแบบดั้งเดิมที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน ว่ากันว่าลึกเข้าไปภายในตลาดนั้น มีซอกซอยเล็กๆ ซึ่งเป็นแหล่ง “โคมแดง” ที่มีชื่อเสียง… หรือชื่อเสีย ในกัวลาลัมเปอร์
อาคารหลังเตี้ย ห้างสรรสินค้าเก่า และเจ้ารถไฟฟ้ารางเดี่ยว (MRL) ขบวนน้อย ทำให้บริเวณนี้มีกลิ่นอายแบบมาเลเซียย้อนยุคคล้าย Kampung Bharu และยังมีอาหารแบบท้องถิ่น รวมทั้งอาหารหากินยากแอบอยู่ตามซอกซอยต่างๆ ให้ลองชิมอย่างสนุก
พิกัด
– 3.1637986, 101.6990118
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี Chow Kit
– หรือ LRT สาย Ampang หรือสาย Sri Petaling ไปสถานี PWTC แล้วเดินต่อ 650 เมตร
รายชื่อร้านอาหารที่ผมสนใจในย่านนี้ กินกันให้สนุกนะคร้าบ
Bazaar Baru Chow Kit
พิกัด
– 3.1654857, 101.6984085
Tian Yake Ban Mian
พิกัด
– 3.1657094, 101.6966642
Restoran Jawa An-nur
พิกัด
– 3.1639151, 101.6980027
Tao Xiang Bah Kut Teh Fish Head Noodles
พิกัด
– 3.1653097, 101.6953661
Restaurant Kin Kin
พิกัด
– 3.1607656, 101.6983125
National Mosque of Malaysia (Masjid Negara)
มันถูกสร้างขึ้นในปี 2508 ซึ่งเป็นปีที่มาเลเซียและสิงคโปร์แยกออกจากกัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 32 ไร่ จุคนได้ถึง 15000 คน หลังคาแยกเป็น 18 แฉก หมายถึง 13 รัฐของมาเลเซีย และหลักปฏิบัติ 5 ประการของอิสลาม มีหออซานสูง 73 เมตร เดิมทีหลังคาเป็นสีสมชู แต่ถูกแทนที่ด้วยสีเขียวจากการบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2530
ด้านหลังมัสยิดเป็นที่ตั้งของ Heroes’ Mausoleum มีโดมหลังคาแฉกสีขาว ใช้เป็นสุสานของอดีตนายกรัฐมนตรี Tun Abdul Razak บิดาแห่งการพัฒนา และนักการเมืองชื่อดังท่านอื่นๆ
ส่วนเราไปผิดเวลา เลยได้แต่ยืนมองป้ายแบบนี้
พิกัด
– 3.1420936, 101.6917746
เวลา
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่มุสลิม
– จันทร์ – อาทิตย์, 09.00 – 12.00, 15.00 – 16.00, 17.30 – 18.30
– ศุกร์, 15.00 – 16.00, 17.30 – 18.30
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดินข้ามสะพานลอยไม่ไกล
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดินข้ามสะพานลอยไม่ไกล
Islamic Arts Museum
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปะแบบอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอาคารออกแบบเรียบๆ สไลต์มุสลิม
จัดแสดงงานกว่า 7000 ชิ้น ทั้งคัมภีร์โบราณ
ผ้าคลุมกะอ์บะฮ์ (Kaaba, อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อการเคารพสักการะพระอัลลอฮ์ ตั้งอยู่ที่กรุงเมกกะ จุดที่ชาวมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์)
ภาพเขียน อาวุธ เครื่องประดับ และอื่นๆ อีกให้ดูจนเต็มอิ่ม
Lonely Planet แนะนำว่าไม่ควรพลาด หมีเป็ดเห็นด้วยว่าไม่ควรพลาด สำหรับใครที่ชอบอะไรแนวนี้ครับ
พิกัด
– 3.1414749, 101.6897374
เวลา
– ทุกวัน, 10.00 – 18.00
ราคา
– 14 RM
การเดินทาง
– เดินต่อจาก National Mosque of Malaysia
– หรือขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดินข้ามสะพานลอยไม่ไกล
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดินข้ามสะพานลอยไม่ไกล
Merdeka Square
บริเวณที่ชาวมาเลเซียรวมตัวกัน เพื่อเป็นสักขีพยานในการประกาศอิสระภาพจากอังกฤษ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2500 โอ๊ะ… เพิ่งหกสิบกว่าปีเองแฮะ
ปลายสนามด้านใกล้เสาธงมี Kuala Lumpur City Gallery พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่นอกจากจะเสียเงินแล้ว เรายังเห็นนักท่องเที่ยวอัดแน่น ผ่านดีกว่าเนอะ
ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งมีโบสถ์ขนาดเล็กชื่อว่า St. Mary’s Church ซึ่งเป็นหนึ่งในโบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน (อังกฤษ: Anglicanism) ที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย
ส่วนอาคารใหญ่สะดุดตาตรงข้ามสนามหญ้าคือ Sultan Abdul Samad มันเคยใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐด้านหลังมีสวนเล็กๆ สะอาดตา และมีทางเดินเชื่อมไปยัง Masjid Jamek ซะด้วย
พิกัด
– 3.1488412, 101.6937031
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แล้วเดินต่ออีกเล็กน้อย
Masjid Jamek
มัสยิดขนาดใหญ่แห่งแรกในกัวลาลัมเปอร์ สร้างขึ้นในปี 2450 ด้วยสถาปัตยกรรมโมกุล โดยสถาปนิคขาวอังกฤษ Arthur Benison Hubback จุดประสงค์เพื่อให้เป็นมัสยิดหลักที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา จนกระทั่ง National Mosque of Malaysia สร้างเสร็จ ที่นี่จึงลดบทบาทลง ภายในค่อนข้างสงบและผ่อนคลาย ไม่มีใครกวนใจ
พิกัด
– 3.1489235, 101.6956276
เวลา
– เสาร์ – พฤหัสบดี, 10.00 – 12.30 และ 14.30 – 16.00
– ศุกร์ ปิด
ราคา
– ฟรี แต่ควรบริจาคเล็กน้อย
อื่นๆ
– ต้องแต่งกายสุภาพ ห้ามกางเกงขายาว ผู้หญิงต้องใส่ชุดคลุม
– ทางมัสยิดมีเครื่องแต่งกายให้ยืมฟรี
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แล้วเดินข้ามถนน
Chinatown (Petaling Street)
ย่านการค้าที่มีอาคารเก่าแบบยุโรปกระจายอยู่ทั่วไป แซมด้วยอาคารสูงทันสมัย สิ่งที่ดึงดูดเรามาย่านนี้ คือ ตลาดแห่ง Petaling Street ซึ่งมีร้านค้าคึกคัก และร้านอาหารน่าลองเยอะไปหมด ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอย่างศาลเจ้า และวัดฮินดู ถือเป็นของแถม จะแวะหรือจะข้ามก็ไม่เสียหายครับ
พิกัด
– 3.1451366, 101.6974293
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
Sin Sze Si Ya Temple @ Chinatown
ศาลเจ้าในลัทธิเต๋าที่เก่าแก่ที่สุดในกัวลาลัมเปอร์ ภายในสงบเงียบ กลิ่นธูปจางๆ ลอยอยู่ในอากาศ และแสงสลัวสร้างบรรยากาศชวนให้นึกถึงภาพยนต์ตระกูล “ผีกัด” ที่เคยดูตอนเด็กๆ
มันถูกสร้างในปี 2407 โดย Yap Ah Loy กัปตันเรือชาวจีน เพื่อระลึกถึง Sin Sze Ya และ Si Sze Ya เทพที่ช่วยให้ท่านเอาชนะสงครามและป้องกันเมืองเอาไว้ได้ ซึ่งอันที่จริงเทพสององค์นี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Sheng Meng Li และ Chung Lai สหายร่วมรบของท่านนั่นเอง
พิกัด
– 3.1455457, 101.696447
เวลา
– 7.00 – 17.00
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
Guan Di Temple @ Chinatown
ศาลกวนอู เทพเจ้าสงครามที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนให้ความเคารพ
ก่อนเข้าไปข้างใน เห็นสิงโตคู่หน้าประตูมั๊ยครับ รู้มั๊ยว่าตัวไหนเป็นตัวผู้ตัวไหนเป็นตัวเมีย
ด้านหลังสิงคู่คือรูปปั่นเทพเจ้าประตู คอยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปภายในศาลเจ้า
ด้านในสุดมีรูปปั้นของเทพกวนอูตั้งอยู่ ด้านซ้ายของท่านคือกวนเป๋ง บุตรชาย ส่วนทางขวาคือจิวฉอง ลูกน้องคนสนิทที่กระโดดกำแพงฆ่าตัวตาย เมื่อรู้ว่ากวนอูเสียชีวิต
เรื่องสิงโตหน้าประตู
ตัวผู้อยู่ทางขวา เท้าข้างหนึ่งเหยียบลูกแก้วอยู่ ตัวเมียอยู่ทางซ้าย มีลูกสิงตัวจิ๋วเกาะขาอยู่ด้วยเป็นนัยว่านี่คือพลังของครอบครัวที่ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย
ถ้าคุณเข้าใกล้แล้วรู้สึกถึงแรงกดดัน หายใจลำบาก ก้าวขาไม่ออก ก็ชัดเลย
พิกัด
– 3.14405, 101.69676
เวลา
– ทุกวัน, 7.00 – 19.00
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 300 เมตร
Sri Mahamariamman Temple @ Chinatown
วัดฮินดูที่เก่าที่สุดในกัวลาลัมเปอร์ สร้างโดย K. Thamboosamy Pillai ผู้นำชาวทมิฬคนสำคัญในปี 2416 ตั้งชื่อตามพระแม่มารีอัมมัน (Mariamman) เทพเจ้าผู้ปกป้องมนุษย์จากโรคภัยและสิ่งชั่วร้าย ตกแต่งอย่างงดงามด้วยอัญมณีทองคำ และวัสดุจากสเปนและอิตาลี เดิมทีสงวนไว้ใช้สำหรับคนในครอบครัวเท่านั้น และเริ่มเปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้เมื่อปี 2463
ซุ้มประตูทางเข้า (Gopuram) สร้างแบบอินเดียใต้ สูงกว่า 20 เมตร และมีรูปปั้นของเทพถึง 228 องค์ ซึ่งส่วนใหญ่แสดงเรื่องราวจากรามายณะ
เทศกาลไทปูซัม
ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี (ครั้งถัดไปคือวันที่ 21 มกราคม 2562) ชาวทมิฬจะจัดเทศกาล “ไทปูซัม (Thaipusam)” เพื่อระลึกถึงพระขันธกุมาร (Lord Muruga หรือ พระมูรุกัน) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระศิวะและพระอุมาเทวี พระองค์เป็นเทพแห่งความดี ความเยาว์วัย และพลังอำนาจ และเป็นผู้ขจัดความชั่วร้ายทั้งปวง
และไฮไลท์คือรถม้าสีเงิน ทำจากเงินหนัก 350 กิโลกรัม ใช้เงินถึง 350000 RM ในการสร้าง จะถูกนำออกมาจากห้องนิรภัย เพื่อแห่รูปปั้นของพระขันธกุมารไปตามท้องถนนจนถึงถ้ำบาตู (Batu Caves)
ที่นี่ต้องฝากรองเท้า และมีค่าฝากด้วย พยายามเตรียมเงินให้ใกล้เคียงค่าฝากที่สุด เพราะพี่บังแกไม่ทอนนะฮะ
พิกัด
– 3.1434018, 101.6964168
เวลา
– ทุกวัน, 6.00 – 21.00
ราคา
– ค่าฝากรองเท้าคู่ละ 0.20 RM
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 300 เมตร
Batu Caves
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ตั้งอยู่ไกลออกไปนอกเมือง ดังนั้นงวดนี้เราต้องพึ่ง KTM Komuter รถไฟไฟฟ้าเสียงเงียบกริบ
เราสามารถขึ้น KTM Komuter จาก KL Sentral ก็ได้ แต่เราเลือกสถานี Kuala Lumpur เพราะตึกสวย
ยิ่งเดินเข้าใกล้ เราก็ยิ่งพบว่าที่นี่เงียบพิกล ไฟมืดสลัว แถมประตูทางเข้าก็ปิดซะเป็นส่วนใหญ่
ร้างปะนิ ผมชักสงสัย จนกระทั่งเห็นประตูบานหนึ่งเปิดอยู่
เครื่องขายตัวหน้าตาไม่คุ้นเคย ตั้งอยู่ตรงนั้น
“เสียอะ” ผมพูดกับอร
เจ้าหน้าที่รถไฟคงสงสาร เจ้าสองคนนี้ที่ยืนกดตู้เสียๆ อยู่ได้ เดินมาเรียกพวกเราไปซื้อตั๋ว
หลังจากนั้นก็แค่นั่งรอ
ถึง Batu Caves ซะที
เดินผ่านความเขรอะเล็กน้อยที่ชวนให้นึกถึงอินเดีย เจ้าลิงวิ่งหาของกินตามพื้น วิหารโปร่งๆ และสวนสัตว์ที่ไม่มีใครเหลี่ยวแล บันไดหลากสี และรูปปั้นสีทองสูงใหญ่ของพระขันธกุมารก็อยู่ตรงหน้า เหมือนที่เห็นในรูป
แต่ที่รูปไม่บอกก็คือ ขั้นบันไดแคบ และชันกว่าที่คิด
ครึ่งทางก่อนถึงถ้ำใหญ่ มีทางแยกไป Dark Cave ซึ่งมี “ทริปสำรวจถ้ำ” บริการด้วยราคาหลายสิบ RM
เรามีเงินไม่พอสำหรับการนี้เลยต้องข้ามไป แต่สำหรับใครที่ชอบ ทัวร์ที่จะพาคุณเข้าสู่ธรรมชาติมืดมิดในถ้ำ พร้อมไกด์และไฟฉายคนละกระบอก ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจเหมือนกัน
ปลายบันไดเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีวัดเล็กๆ ของศาสนฮินดูอยู่ภายใน
ส่วนตัวผมพบว่าตัวสถานที่ค่อนข้างธรรมดา แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินขึ้นบันได การอยู่ในถ้ำขนาดใหญ่ มองออกไปเห็นเมืองอยู่ไกลๆ เป็นอะไรที่น่าจดจำมากกว่า
พิกัด
– 3.2378841, 101.6840384
เวลา
– ทุกวัน, 6.00 – 21.00
ราคา
– ฟรี
การเดินทาง
– เริ่มจากสถานีรถไฟ Kuala Lumpur
– ติดต่อเจ้าหน้าที่ ขอซื้อตั๋วไป Batu Caves
– ขึ้น KTM Komuter ไป Batu Caves ไม่ต้องกลัวหลงครับ เพราะรถสุดสายที่ Batu Caves เลย
– รถไฟออกจากสถานีทุก 1 ชม. (โดยประมาณ) ถ้าคุณอยากขึ้นรถเที่ยวไหน ให้ไปถึงสถานีก่อนประมาณ 30 นาทีครับ
– ตารางเวลาอย่างละเอียดที่นี่ http://www.ktmb.com.my/TrainTime.html หัวข้อ Pulau Sebang – Batu Caves
Jalan Alor
ผมหวังว่าจะได้กินอาหารริมทางแท้ๆ ที่นี่ แต่มันกลับกลายเป็นแหล่งรวมร้านอาหารนานชาติ รวมทั้งอาหารไทยที่เราคุ้นเคย ไปซะงั้น
หันไปทางไหนก็เจอร้านคล้ายๆ กัน ว้า…ผิดหวังเล็กน้อย แต่ถ้าคุณอยากกินอาหารท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก ร้านดูสะอาดสะอ้าน (กว่าที่ไชน่าทาวน์) ที่นี่ก็ไม่เลวครับ
พิกัด
– 3.1455728, 101.708523
เวลา
– ทุกวัน, 16.00 – 24.00
– ช่วงกลางวันก็มีร้านเปิดครับ แต่คึกคักที่สุดช่วงเย็น
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี้ AirAsia–Bukit Bintang แล้วเดิน 450 เมตร
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pavilion Bukit Bintang แล้วเดินไม่ไกล
Ilham Gallery
หอศิลป์ขนาดย่อมตั้งอยู่บนชั้น 5 ของอาคาร Ilham แสดงนิทรรศการแบบหมุนเวียนไปทุก 3 – 4 เดือนวันที่เราไปเป็นผลงานของ Latiff Mohidin ศิลปินชาวมาเลเซีย
ภายในสามารถถ่ายรูปได้ แต่ห้ามนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ส่วนใครที่กำลังมองหาของฝากน่ารักๆ ลองแวะร้านขายสินค้าของที่นี่ อาจมีอะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านครับ
พิกัด
– 3.1588992, 101.7188205
เวลา
– อังคาร – เสาร์, 11.00 – 19.00
– อาทิตย์, 11.00 – 17.00
– จันทร์ ปิด
ราคา
– ฟรี
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Ampang Park แล้วเดิน 300 เมตร
ร้านอาหาร
อาหารมาเลเซียในปัจจุบัน เกิดจากอาหารของสามชาติ คือ มาเลเซีย จีน และอินเดีย ทั้งหมดมีกลิ่นรสที่คนไทยคุ้นเคย กินง่าย ขณะเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างให้ประหลาดใจ และนี่คือร้านที่เรากินทั้งหมดในทริปนี้
ร้านบางร้านเป็นรถเข็น ที่ไม่มีที่ตั้งแน่นอน ผมจะลงพิกัดและเวลาที่ผมเจอไว้ครับ
Soong Kee
ข้าวมันไก่กับก๋วยเตี๋ยวก็น่าจะคล้ายบ้านเราแหละ ผมคิดว่างั้น
แต่เอาเข้าจริง กินเข้าไปคำแรกถึงกับร้องอือหืออ คืออร่อยมาก ข้าวมัน กินกับไก่นุ่มๆ ราดด้วยซีอิ๊วหอมน้ำมันงา บะหมี่แห้งหน้าเนื้อ และเกาเหลาเนื้อเด้งๆ นี่เป็นร้านที่ผมประทับใจจนแวะมาซ้ำ ก่อนกลับกรุงเทพ
พิกัด
– 3.1472544, 101.6967554
เวลา
– จันทร์ – เสาร์, 11.00 – 22.00
– อาทิตย์, ปิด
ราคา
– 10 -15 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แล้วเดิน 300 เมตร
Nyonya Colors
โอ๊ะ ขนมสีๆ หลังจากเดินผ่านไปมาอยู่หลายรอบ เราก็ตัดสินใจเลี้ยวเข้าร้าน ขนมหน้าตาคล้ายขนมชั้น แต่เนื้อเป้งหนึบๆ ส่วนของทอดวางทิ้งไว้นานจนเย็นชืด
พิกัด
– 3.1579516, 101.7116236
– อยู่ใน Suria KLCC, Level 2
เวลา
– ทุกวัน, 10.00 – 22.00
ราคา
– 5 – 15 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี KLCC แล้วเดิน 650 เมตร
Kim Soya Bean @ Chinatown
ร้านน้ำเต้าหู้และเต้าฮวยเจ้าเด็ด เต้าฮวยเนื้อเนียนแทบจะเป็นพุดดิ้ง ไม่เหม็นเขียว กินกับน้ำขิงเผ็ดน้อย กลืนง่ายอุ่นสบายท้อง
พิกัด
– 3.1443235, 101.6976476
เวลา
– ทุกวัน, 10.00 – 22.00 โดยประมาณ
ราคา
– ประมาณ 3 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
Air Mata Kucing @ Chinatown
เครื่องดื่มรสหวานชื่นใจ ทำจากลำใยแห้ง หล่อฮังก๊วย และฟักเขียว ร้านนี้ขายดิบขายดีพอๆ กับ Kim Soya Bean ที่อยู่เยื้องกัน
พิกัด
– 3.144525, 101.6977432
เวลา
– ทุกวัน, 10.00 – 22.00 โดยประมาณ
ราคา
– ประมาณ 3 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
Koong Woh Tong @ Chinatown
โดนฝ่ามือพิชิตมังกรจนช้ำใน มาซดสมุนไพรร้านนี้ ชุ่มคอ แก้ร้อนใน
พิกัด
– 3.1451785, 101.6973868
เวลา
– อาทิตย์, 18.00
ราคา
– 2 – 13 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
ร้านขนมรถเข็นตรงข้าม Air Mata Kucing @ Chinatown
ขนมที่แปะป้ายว่าเป็นโมจิ มีความหนึบๆ หยุ่นๆ มีสามรส คือรสส้ม และ เอ่อ เดาว่าเป็นชาเขียว และรสหวาน โรยถั่วงามาเต็ม อร่อยดีเหมือนกัน
หน้าตาคนขายไม่ค่อยรับแขก แต่ใจดี มีค้างให้ถ่ายรูปด้วย
หมดแล้ว กลับบ้านละนะ บาย
พิกัด
– 3.144525, 101.6977432
– ใกล้ร้าน Air Mata Kucing
เวลา
– อาทิตย์, 18.30
ราคา
– 5 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
ร้านอาหารจีนไม่ทราบชื่อ ตรงข้าม Air Mata Kucing @ Chinatown
เราติดฝนที่ร้านนี้ เลยสั่งของมากินพอเป็นพิธี หมี่ผัดราคา 80 บาท อร่อยดีแต่แพงไปนิด
ใช่แล้ว นี่คือร้านที่ผมหนีออกมาตอนเปิดเรื่องนั่นเอง คาดว่าพนักงานบางคนรู้ภาษาไทยฮะ
พิกัด
– 3.144525, 101.6977432
– ใกล้ร้าน Air Mata Kucing
เวลา
– อาทิตย์, 18.30
ราคา
– 10 – 20 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
Koon Kee Wan Tan Mee @ Chinatown
ร้านหมี่ชื่อดัง ติดโผ “ต้องลอง” ของนักชิมฝรั่งหลายคน
เห็นเค้ากินหมี่แห้ง หมูแดง ส่วนเรางงๆ เข้าไป สั่งเกี๋ยวน้ำซะงั้น
เส้นดี ซุปอร่อย แต่รสอ่อนครับ
พิกัด
– 3.1442023, 101.6979732
เวลา
– ทุกวัน, 10.00 – 22.00 โดยประมาณ
ราคา
– 8 – 10 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 550 เมตร
ร้านขนมถังแตก @ Chinatown
เป็นร้านที่ผมบังเอิญเจอรีวิวในยูทูป ว่าคุณลุงทำขนมนี้มาสามสิบกว่าปี และถังแตกอร่อยล้ำ
เสียดายที่เราเจอแกในวันฝนพรำ ทุกอย่างเลยดูชื้นแฉะ สภาพร้านและขนมไม่น่ากินเอาซะเลย
เราลองชิมไปคนละคำ พบว่ารสชาติดีทีเดียว ถ้าได้กินตอนร้อนๆ น่าจะเยี่ยม
พิกัด
– อยู่หน้าร้าน Koon Kee Wan Tan Mee
เวลา
– อาทิตย์, 18.45
ราคา
– 1 – 2 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 550 เมตร
Hong Kee Clay Pot Chicken Rice @ Chinatown
ร้านข้าวอบหม้อดินแบบจีน และอาหารทะเลย่างแบบโปรตุเกส ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร เลยพลิกเมนูไปมาเจออาหารแบบเซ็ตที่น่าจะมีทุกอย่างที่ควรกิน
ขอเซ็ตเล็ก 1 ชุดคร้าบ
พนักงานนำหม้อดินมาเสิร์ฟอย่างว่องไว และทันทีที่เปิดฝาขึ้น เธอก็เอาช้อนคนข้าวในทันที ไม่มีโอกาสให้ผมถ่ายตอนที่มันหน้าตาสวยๆ
กับข้าวอย่างอื่นตามติดมาเป็นขบวน ทั้งหมดรสชาติอ่อนแต่กลมกลอม ยกเว้นทะเลเผารสเผ็ดร้อนคล้ายผัดพริกแกงบ้านเรา
พิกัด
– 3.1443496, 101.6986739
เวลา
– ทุกวัน, 16.30 – 22.00 โดยประมาณ
ราคา
– 10 – 35 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 600 เมตร
Fat One Lok Lok @ Chinatown
เป็นอีกร้านที่พนักงานพูดภาษาไทยได้ดี วิธีสั่งคือหยิบของที่เราต้องการ แต่ละไม้ราคาไม่เท่ากัน แต่มีป้ายเขียนให้เห็นชัดเจน แล้วพ่อครัวจะนำไปปรุงให้ จะย่าง หรือทอดก็ได้
บนโต๊ะเหมือนจะมีหม้อน้ำซุปร้อนๆ ให้ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าทำยังไง แอบส่องโต๊ะข้างๆ ก็ไม่เห็นใครใช้ เลยเลยไม่ได้ลอง (ใครกินเป็นช่วยบอกทีฮะ)
พิกัด
– 3.1443851, 101.6986679
เวลา
– อาทิตย์, 19.30
ราคา
– 1.50 – 40 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 600 เมตร
Restoran Chinatown Food Centre @ Chinatown
“สเต๊ะไม้ละเท่าไหร่ครับ”
“3 RM ครับ” คนขายตอบ
“ขอ 3 ไม้ครับ”
แพงแฮะ แต่อาจเทพก็ได้
สั่งเสร็จผมเข้าไปนั่งรอในศูนย์อาหาร แล้วสเต๊ะเล็กจิ๋วสามไม้ก็ถูกนำมาเสิร์ฟ เนื้อเหนียว มันเยอะ คือแย่ คิดแล้วก็สงสารตัวเองที่อยากลองของ
“เอาน้ำมั๊ยคะ” คุณป้าคนหนึ่งเดินมาถาม
“ไม่เอาค่ะ” อาเจ๊ตอบ
“ถ้าคุณอยากนั่งต้องสั่งอาหารในนี้ ร้านสเต๊ะอยู่นอกศูนย์อาหารนะ” คุณป้าบอก
“งั้นเราไปดีกว่าค่ะ” อาเจ๊ปิดท้าย แล้วเราก็เดินออกไป
หายสงสัยว่าทำไมร้านนี้ถึงได้คะแนนต่ำเตี้ยนักใน Google Map
พิกัด
– 3.14436, 101.6980898
– ผมคิดว่าตำแหน่งร้านใน Google ผิดครับ
เวลา
– อาทิตย์, 20.00
ราคา
– ไม่แน่ใจ แต่อย่าเข้าเลยฮะ เชื่อหมีเป็ดเต๊อะ
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 500 เมตร
ของปิ้งหน้าร้าน Kak Som
ผมเจอคุณลุงนี้ปิ้งอะไรซักอย่างอยู่หน้าร้าน Kak Som เลยขอลองอย่างละนิดอย่างละหน่อย น่าจะเป็นขนมแบบคาวๆ ที่ทำมาจากปลากับเครื่องเทศบางอย่างและมะพร้าว รสอ่อน หอมมัน
พิกัด
– 3.1620739, 101.7048101
เวลา
– อาทิตย์, 9.00
ราคา
– 1 – 10 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Baru แล้วเดิน 300 เมตร
Nasi Lemak Wanjo
ร้าน Nasi Lemak ชื่อดัง ลูกค้าต่อคิวกันยาวเหยียด ข้างในกว้างขวางแต่แทบไม่มีที่นั่ง เราอยากกินมั่งเลยต่อแถวด้วย สายตาคอยส่องว่าเค้าสั่งกันยังไง
วิธีไม่ยากครับ แม่ค้าจะถือจานข้าวในมือ เราก็แค่ชี้ว่าอยากกินอะไร เธอจะตักให้ และสุดท้ายคือเค้าจะคิดเงินตามกับข้าวที่เลือก ส่วนรสชาติอร่อยกินง่าย คล้ายข้าวแกงบ้านเรา
พิกัด
– 3.1623502, 101.7044185
เวลา
– ทุกวัน, 6.30 – 12.00, 15.00 – 00.
ราคา
– 10 – 20 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Baru แล้วเดิน 350 เมตร
ขนมทอดหน้าร้าน Kelapa Muda
กล้วยทอด มันทอด โอ๊ะ แล้วเจ้าลูกกลมๆ นั่นรสชาติเป็นยังไงน้อ
ผมเลยซื้อมาอย่างละชิ้น ในราคา 1 RM
กล้วยรสเฝื่อน เหมือนเอากล้วยดิบมาทอด มันทอดมาตรฐาน ส่วนไอ้เจ้ากลมๆ นั่น น่าจะเป็นมันบด เนื้อเนียนเด็ดมาก แต่หวานไปนิด
พิกัด
– 3.1637397, 101.7014329
เวลา
– อาทิตย์, 10.30
ราคา
– 1 – 2 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Baru แล้วเดิน 1 กิโลเมตร
– หรือขึ้น MRL ไปสถานี Medan Tuanku แล้วเดิน 800 เมตร
ร้านโรตีชาชัก
ร้านนี้แค่แวะกินน้ำครับ หอมอร่อยมาตรฐาน ส่วนโรตีราคาไม่แพงถ้าอยากชิมก็จัดได้เลย
พิกัด
– 3.1637397, 101.7014329
– อยู่ถัดจากร้านของทอดก่อนหน้านี้
เวลา
– อาทิตย์, 10.45
ราคา
– 1 – 4 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Baru แล้วเดิน 1 กิโลเมตร
– หรือขึ้น MRL ไปสถานี Medan Tuanku แล้วเดิน 800 เมตร
รถขายขนมหน้าตลาด Chow Kit
คล้ายๆ ขนมไข่ ไม่มีไส้ หวานอ่อนๆ ไม่ถึงกับแห้งฝืดคอ แต่ก็ทำให้หิวน้ำได้เหมือนกัน
พิกัด
– 3.1637986, 101.6990118
– ตรงข้าม Chow Kit Market
เวลา
– อาทิตย์, 11.00
ราคา
– 1 – 4 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Baru แล้วเดิน 1.1 กิโลเมตร
– หรือขึ้น MRL ไปสถานี Medan Tuanku แล้วเดิน 750 เมตร
ร้านน้ำตลาด Chow Kit
ตรงข้ามกับร้านขนมด้านบน มีร้านขายผลไม้และน้ำหวาน ไม่แน่ใจว่าชื่ออะไร เพราะชี้มามั่วๆ เหมือนเดิมฮะ ^^
ในแก้วประกอบไปด้วย กะทิ น้ำตาล น้ำลำใย และลอดช่อง หอมเย็นสดชื่น
พิกัด
– 3.1637986, 101.6990118
– อยู่หน้า Chow Kit Market
เวลา
– อาทิตย์, 11.00
ราคา
– 2 – 4 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Kampung Baru แล้วเดิน 1.1 กิโลเมตร
– หรือขึ้น MRL ไปสถานี Medan Tuanku แล้วเดิน 750 เมตร
Tian Yake Ban Mian
ร้านขาย Pan Mee หรือ Ban Mian ไม่แน่ใจว่าออกเสียงแบบไหนกันแน่ สูตรดั้งเดิม นวดแป้งกันสดๆ
ว่ากันว่าไม่มีแบบนี้อีกแล้วในกัวลาลัมเปอร์ คนในร้านส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่เป็นมิตรมาก ไม่รู้จะสั่งยังไง เลยใช้มุขลอกโต๊ะข้างๆ เหมือนเดิม
รสอ่อนมาก มีแค่กลิ่นหอมของน้ำซุปชัดเจน ต้องปรุงเพิ่มครับ
พิกัด
– 3.1657094, 101.6966642
เวลา
– ทุกวัน, 7.00 – 17.00
ราคา
– 6 – 10 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี Chow Kit แล้วเดิน 350 เมตร
– หรือขึ้น LRT สาย Ampang หรือสาย Sri Petaling ไปสถานี PWTC แล้วเดินต่อ 450 เมตร
ร้านข้าวในตลาด Bazaar Baru Chow Kit
ตลาดเล็กๆ มีร้านข้าวแกงและขนมมาเลเซีย หลังคาต่ำ ค่อนข้างอึดอัด แต่นี่แหละรสชาติแบบที่คนแถวนี้กินกัน
ถ้าคุณผ่านไปแถวนั้นแล้วเห็นเหยือกน้ำวางบนโต๊ะ นั่นไม่ใช่น้ำกินนะฮะ มันเอาไว้ล้างมือ
“ช่าย ช่าย เอาไว้ล้างมือ”
หลังกินข้าวเสร็จ พ่อหนุมผิวเข้มโต๊ะข้างๆ ก็สาธิตให้ดู พร้อมกับส่งยิ้มให้หนึ่งครั้ง
พิกัด
– 3.1654858, 101.6984084
เวลา
– อาทิตย์, 12.30
ราคา
– 6 – 10 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี Chow Kit แล้วเดิน 150 เมตร
– หรือขึ้น LRT สาย Ampang หรือสาย Sri Petaling ไปสถานี PWTC แล้วเดินต่อ 650 เมตร
ร้านขนมในตลาด Bazaar Baru Chow Kit
ขนมร่วนๆ คล้ายขนมโก๋ นึ่งอุ่นๆ ทำให้ไม่ฝืดคอ มีไส้รสหวานอ่อนๆ ข้างล่างมีมะพร้าวขูดด้วย อร่อยดีเหมือนกัน
พิกัด
– 3.1654858, 101.6984084
เวลา
– อาทิตย์, 13.00
ราคา
– 1 – 4 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี Chow Kit แล้วเดิน 150 เมตร
– หรือขึ้น LRT สาย Ampang หรือสาย Sri Petaling ไปสถานี PWTC แล้วเดินต่อ 650 เมตร
Cendol ABC
“ชั้นจะลองแบบใส่ทุเรียนนะ”
“ม๊ายยยย ชั้นไม่ชอบทุเรียน” อรไม่เห็นด้วยกับเมนูนี้
แต่เพราะความหอมหวานของมัน เจ๊เลยกินเอาๆ
“แบ่งช้านม่างงงง” ผมต้องขอให้หยุด ไม่งั้นหมดถ้วยนะฮะ
พิกัด
– 3.1456877, 101.6957617
เวลา
– ทุกวัน 10.00 – 21.00
ราคา
– 5 – 15 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Kelana Jaya ไปสถานี Pasar Seni แล้วเดิน 400 เมตร
– หรือขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แล้วเดิน 500 เมตร
Jalan Masjid India Food Court
ปลาทูอยู่หนายยยย
เราเห็น Mark Wiens สั่งปลาทูทอดราดแกง (Ikan Bakar) ที่ร้านนี้ เลยลองตามมากินมั่ง
ปรากฏว่าวันนั้นไม่มีปลาทูฮะ เลยลองสั่งอย่างอื่นมากินแทน รสชาติมาตรฐานครับ ไม่แย่ แต่ก็ไม่เด็ด
พิกัด
– 3.1524286, 101.6972533
เวลา
– จันทร์, 8.30
ราคา
– 6 – 15 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แล้วเดิน 400 เมตร
ตลาดเช้าใกล้สถานี Masjid Jamek
แผงขายอาหารช่วงเช้า มีของกินราคาประหยัดให้ลองหลายเมนู
ที่สำคัญ สำคัญจริงๆ สำคัญมาก ถ้าคุณเห็นร้านตามภาพ นี่คือร้านขายโจ๊กปลาโคตรอร่อย รีบต่อแถวเลยฮะ ห้ามพลาด!!
พิกัด
– 3.1498857, 101.6966321
เวลา
– จันทร์, 8.45
ราคา
– 3 – 10 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แม่ค้าขายของอยู่ข้างสถานีครับ
La Cucur 2 KL Sentral Station
ขนมหอมหวาน เนื้อแน่นเหนียว ส่วนตัวคิดว่ารสชาติธรรมดาครับ
พิกัด
– 3.1343382, 101.6863371
– อยู่ในสถานี KL Sentral เดินเข้าไปลึกๆ ครับ
เวลา
– ทุกวัน, 7.30 – 22.00
ราคา
– 1 – 10 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT, MRT, MRL สายไหนก็ได้ไปสถานี KL Sentral
ร้านปาท่องโก๋ @ Jalan Alor
ร้านปาท่องโก๋รถเข็น คนขายเป็นคนป้าน่าร๊าก คุณลุงและคุณลูกช่วยกันนวดแป้ง ช่วยกันทอดอยู่ข้างๆ ปาท่องโก๋นุ่มๆ รสหวานหน่อยๆ ไม่อมน้ำมัน
พิกัด
– 3.1462695, 101.7097588
– อยู่ข้างร้าน Restoran Dragon View
เวลา
– จันทร์ – เสาร์, 15.00 – 20.00
ราคา
– 1.1 – 5.5 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี้ AirAsia–Bukit Bintang แล้วเดิน 450 เมตร
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pavilion Bukit Bintang แล้วเดินไม่ไกล
Restoran Sai Woo @ Jalan Alor
Jalan Alor เต็มไปด้วยร้านอาหารนานาชาติ แบบที่เราไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ ดูๆ แล้วร้านไหนก็คล้ายๆ กัน ผมเลยหลับหูหลับตาเดินเข้าร้านนี้ สั่งกาแฟ สเต๊ะ ปลาหมึกกับซอสหวานๆ อร่อยดีเหมือนกันครับ
พิกัด
– 3.1458196, 101.7090708
เวลา
– ทุกวัน, 15.00 – 2.00
ราคา
– 1.1 – 5.5 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี้ AirAsia–Bukit Bintang แล้วเดิน 450 เมตร
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pavilion Bukit Bintang แล้วเดินไม่ไกล
Pandan Leaf @ Jalan Alor
ร้านขนมหวานที่มีดีพอตัว แอบอยู่หลังร้านบาร์บิคิว เค็กใบเตยอร่อยใช้ได้ ส่วนขนมที่คล้ายน้ำแข็งใส มีรสมันๆ ของกะทิ และเค็มปะแล่ม
พิกัด
– 3.1462069, 101.7092579
เวลา
– ทุกวัน 17.00 – 1.00
ราคา
– 6 – 25 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี้ AirAsia–Bukit Bintang แล้วเดิน 450 เมตร
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pavilion Bukit Bintang แล้วเดินไม่ไกล
ร้านของทอด @ Jalan Alor
เห็นจากรีวิวใน Youtube แล้วคิดว่าน่าจะอร่อย แต่ของจริงเย็นชืด อมน้ำมัน และเลี่ยนสุดๆ เห็นควรว่าให้ข้ามครับ
พิกัด
– อยู่ถัดจากร้าน Pandan Leaf
เวลา
– จันทร์, 18.30
ราคา
– 3 – 15 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น MRL ไปสถานี้ AirAsia–Bukit Bintang แล้วเดิน 450 เมตร
– หรือขึ้น MRT สาย MRT Sungai Buloh-Kajang ไปสถานี Pavilion Bukit Bintang แล้วเดินไม่ไกล
Winson Berger @ ICC Pudu
ผมคิดว่าเราเจอกับร้านในตำนานอีกร้านในกัวลาลัมเปอร์เข้าแล้ว
นี่คือคุณตา Winson ที่ขายเบอร์เกอร์มาตั้งแต่หนุ่มๆ
เราเดินเข้าไปสวัสดี และขอซื้อเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น
คุณลุงไม่พูดไม่จา แต่หยิบขนมปังออกมาวางบนเตาพออุ่นๆ สอดไส้ด้วยหมูแผ่น หมูหยอง ราดซอสนิดหน่อย คลาสสิค กินง่าย
พิกัด
– 3.1380493, 101.714289
เวลา
– อังคาร, 9.00
– คุณลุงขายอยู่หน้า ICC Pudu ตอนผมไปถึง แต่ผมเข้าไปในห้าง กลับออกมาก็ไม่เจอแกแล้วครับ
ราคา
– 3.00 – 3.5 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Ampang หรือสาย Sri Petaling ไปสถานี Pudu แล้วเดินต่อ 700 เมตร
ICC Pudu
ฟู้ดคอร์ทที่มีของกินเต็มไปหมด แต่หนักไปทางอาหารจีน-มาเลย์ รสอ่อนถึงอ่อนมาก ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่มีร้านไหนที่โดดเด่นเป็นพิเศษ
ยกเว้น…
ร้าน AhFook YongTauFu CheongFun คือจริงๆ มาที่นี่เพื่อจะกินร้านนี้ แต่ปิดฮะ
พิกัด
– 3.1380493, 101.714289
เวลา
– อังคาร – อาทิตย์, 6.00 – 2.00
– จันทร์, ปิด
ราคา
– 3.00 – 25 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สาย Ampang หรือสาย Sri Petaling ไปสถานี Pudu แล้วเดินต่อ 700 เมตร
Restoran Al-Rizwan
เราถ่ายรูปอยู่ดีๆ ก็มีพี่อินเดียคนหนึ่งเอาขวดน้ำผึ้งมาวางแหมะบนโต๊ะ
“น้ำผึ้งแท้ๆ ซื้อมั๊ยย ซื้อโหน่ยยย” เราไม่อยากได้ แถมจะขึ้นเครื่องแล้ว เลยปฏิเสธไป
แต่ปรากฏว่าพี่ๆ อินเดียในร้านสนใจซะงั้น เดินมาดูน้ำผึ้งกันใหญ่
เอ่อ พี่ๆ ฮะ ผมขอกินข้าวนี๊ดดนึงนะ
อาหารรสชาติคล้ายข้าวแกงบ้านเรา คุ้นลิ้นกินสบายครับ
พิกัด
– 3.149843, 101.6972731
เวลา
– ทุกวัน, 7.00 – 22.00
ราคา
– 8 – 20 RM ต่อคน
การเดินทาง
– ขึ้น LRT สายไหนก็ได้ ไปสถานี Masjid Jamek แล้วเดิน 50 เมตร
ค่าใช้จ่าย
ทริป 4 วัน 3 คืน
ตั๋วเครื่องบินไปกลับ 5800 บาท
ที่พัก 3 คืน 3240 บาท
ค่าอาหารและน้ำ 3500 บาท
ค่าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า 900 บาท
ค่ารถบัสไปกลับสนามบิน-เมือง 400 บาท
ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 500 บาท
รวม 14340 บาท
เฉลี่ยคนละประมาณ 7170 บาทจ้า
อ้างอิง
www.kuala-lumpur.ws
www.dooasia.com
Lonely Planet Southeast Asia
Wikipedia
หมีเป็ด คือ นักออกแบบเกมและนักวาดภาพประกอบ ที่ออกเดินทางแบบกล้าๆ กลัวๆ สนใจการฝึกสติและพัฒนาตัวเอง พอๆ กับใจอาหารริมทาง ปัจจุบันมีผู้ติดตามบน Facebook กว่า 160,000 คน